ผลกระทบจากการทานยานอนหลับบ่อยๆ อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

หากนอนไม่หลับก็แค่ทานยานอนหลับ วิธีนี้ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา ถึงแม้ว่ายานอนหลับเป็นยาที่ใช้เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับหรือนอนหลับยากสามารถพักผ่อนได้อย่างเพียงพอ ยานอนหลับมีหลายชนิด แต่การทานยานอนหลับบ่อยๆอาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพมากมาย

ยานอนหลับทานบ่อยๆ ไม่ดีต่อร่างกาย

ยานอนหลับ (Sleeping pills) เป็นยาที่รักษาภาวการณ์หลับยาก นอนไม่หลับ การใช้งานนอนหลับในระยะสั้นสามารถกระทำได้ แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น  

1.เสี่ยงต่อการเกิดภาวะพึ่งพายาและติดยา

ผู้ใช้ต้องการยาในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้ผลในการนอนหลับเท่าเดิม เมื่อใช้ยานอนหลับเป็นเวลานาน ร่างกายอาจไม่สามารถนอนหลับได้เองโดยไม่มียาช่วย ทำให้เกิดการพึ่งพายาในทางจิตใจและร่างกาย ซึ่งการหยุดยาทันทีอาจทำให้เกิดอาการถอนยา (withdrawal symptoms)  

2.เสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อม (Dementia)

มีงานวิจัยบางส่วนที่ชี้ให้เห็นว่าการใช้ยานอนหลับ โดยเฉพาะยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine=BZD) เป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อม ทำให้ความจำลดลงและความสามารถในการคิดวิเคราะห์แย่ลง 

3.เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและความผิดปกติทางจิตใจอื่นๆ

ยานอนหลับบางชนิดมีผลต่อสารสื่อประสาทในสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ เมื่อใช้ยาต่อเนื่องอาจทำให้สมองไม่สามารถผลิตสารสื่อประสาทได้เพียงพอ ส่งผลให้อารมณ์ไม่คงที่ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าได้ 

4.เสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) 

ยานอนหลับที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง อาจเสี่ยงทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือภาวะหายใจติดขัด ระหว่างการนอนหลับ สามารถนำไปสู่การเกิดโรค เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง 

5.เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ

เนื่องจากยานอนหลับมีผลกดระบบประสาทและทำให้การรับรู้และการตัดสินใจช้าลง ทำให้เกิดอาการง่วงนอน เวียนศีรษะได้ จึงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การล้ม หรือการเกิดอุบัติเหตุทางยานยนต์  

6.เสี่ยงต่อภาวะหัวใจและหลอดเลือด 

ยานอนหลับบางชนิดอาจมีผลกระทบต่อระบบการไหลเวียนเลือดและการทำงานของหัวใจ การใช้ยาเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจและหลอดเลือดได้ 

การใช้ยานอนหลับบ่อยครั้งหรือใช้เป็นระยะเวลานานอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคและปัญหาสุขภาพหลาย จึงควรใช้ยานอนหลับภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น โดยร่วมกับการปรับพฤติกรรมการนอน เพื่อช่วยให้นอนหลับได้โดยไม่ต้องพึ่งพายา.