เคล็ดลับ วิธีต้มน้ำปลาร้า สูตรทำได้ง่ายๆ แต่อร่อย

การทำปลาร้าเป็นวิธีถนอมอาหารที่มีมาอย่างยาวนาน เป็นวัตถุดิบที่นิยมรับประทานกันมากทางภาคอีสาน สามารถนำมาใส่แกง ใส่ส้มตำ อาหารประเภทยำ และอาหารอื่นๆอีกหลากหลาย บทความนี้จะมาบอกเคล็ดลับการต้มน้ำปลาร้าที่สามารถทำได้ง่ายๆกัน

น้ำปลาร้า คืออะไร?

น้ำปลาร้า คือ วัตถุดิบที่ได้จากการหมักปลา โดยในกระบวนการหมักจะมีการเติมเกลือ รำข้าว หรือข้าวคั่ว ในอัตราส่วนที่เหมาะสม จากนั้นหมักปลาร้าในภาชนะที่ปิดสนิท หมักนาน 3 เดือนขึ้นไป หมักจนได้ที่เพื่อให้มีรสและกลิ่นตามธรรมชาติของปลาร้า พอหมักได้ตามเวลาที่ต้องการแล้วสามารถนำปลาร้ามาใช้ประกอบอาหารต่างๆได้

วิธีต้มน้ำปลาร้า

สำหรับน้ำปลาร้าต้มสุกสูตรนี้สามารถเก็บไว้ได้นาน จะทำเก็บไว้รับประทานที่บ้าน หรือจะทำเพื่อสร้างรายได้ก็เป็นความคิดที่ดีเลยทีเดียว สำหรับส่วนผสมและขั้นตอนการทำมีดังนี้

ส่วนผสม

  • น้ำปลาร้า 4 กิโลกรัม
  • เนื้อปลาร้าที่ทำจากปลาตัวเล็ก 2 กิโลกรัม
  • ปลาร้าโหน่ง 2 กิโลกรัม
  • ผงปรุงรส 2 ช้อนโต๊ะ
  • ผงชูรส 4 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาลปี๊บ 400 กรัม
  • น้ำกระเทียมดอง 1 ถ้วยตวงครึ่ง
  • กะปิ 3 ช้อนโต๊ะ

ขั้นตอนการทำ

  • นำภาชนะมาเตรียมส่วนผสม เทน้ำปลาร้าเข้มข้น เนื้อปลาร้า และปลาร้าโหน่ง ลงไปในภาชนะ จากนั้นคนส่วนผสมให้เข้ากัน
  • ปรุงรสด้วยน้ำกระเทียมดอง กะปิ ผงปรุงรส น้ำตาลปี๊บ และผงชูรส คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันอีกครั้ง
  • นำปลาร้ามาตั้งไฟ ให้ใช้ไฟกลาง ระหว่างต้มให้หมั่นคนปลาร้า ต้มนานประมาณ 30 นาที
  • นำปลาร้าที่ต้มเสร็จแล้วมากรองใส่กระชอนเอาแต่น้ำ จากนั้นพักไว้ให้เย็นแล้วนำไปกรอกใส่ขวดเก็บไว้รับประทาน

ปลาร้ามีสารอาหารอะไรบ้าง

ปลาร้า เป็นแหล่งของวิตามินเค สำหรับวิตามินเคนั้นมีประโยชน์ในการนำแคลเซียมเข้าสู่กระดูก และมีประโยชน์ในการหยุดเลือดได้ดี นอกจากนี้ปลาร้ายังมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์อื่นๆ ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรท ไขมัน วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินเอ ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส และไนอาซิน ทั้งนี้ปลาร้านั้นมีโซเดียมสูง ดังนั้นควรรับประทานอย่างพอเหมาะ

รับประทานปลาร้าดิบ มีผลเสียหรือไม่

การรับประทานปลาร้าโดยไม่ทำให้สุกก่อน จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคพยาธิ อย่างโรคพยาธิตัวจี๊ด โรคพยาธิลำไส้ แต่โรคพยาธิที่พบได้บ่อยคือ โรคพยาธิใบไม้ในตับ ผู้ป่วยจะมีอาการท้องผูก ท้องร่วง ปวดท้อง เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย ตาเหลือง ตัวเหลือง น้ำหนักลด ตับโต มีไข้ต่ำๆ หรืออาจมีไข้สูงจนหนาวสั่น ดังนั้นหากไม่อยากเสี่ยงต่อโรคพยาธิ ก็ควรทำปลาร้าให้สุกก่อนรับประทาน

ปลาร้ามีกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย แต่ทั้งนี้ก็ควรรับประทานน้ำปลาร้าปรุงสุกอย่างถูกวิธีโดยการปรุงสุกเพื่อป้องกันโรคพยาธิที่อาจเกิดขึ้นได้