วิธีสังเกตลูกถูกทำร้ายร่างกายจากที่โรงเรียน

ปัจจุบันมีข่าวเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายเด็กจากโรงเรียนมากขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากเพื่อน รุ่นพี่ รวมถึงคุณครูที่เราคิดว่าน่าจะเป็นคนดูแลลูกของเราดีที่สุดก็ตาม หากเราไม่อยากให้ลูกถูกทำร้ายอย่างต่อเนื่อง เรามีวิธีสังเกตลูกว่าโดนทำร้ายจากที่โรงเรียนหรือไม่มาแนะนำคุณพ่อคุณแม่

1.บาดแผลตามร่างกาย

เริ่มสังเกตจากบาดแผลตามร่างกาย อาจจะเป็นรอยช้ำนิดหน่อย แต่เป็นรอยฟกช้ำที่ดูผิดปรกติ เช่น รอยถูกหยิก บวมแดง ตามแขน ขา หรือบาดแผลเล็กน้อย อย่าคิดว่าเกิดจากการเล่นกันของเด็ก ๆ หรืออุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ให้ดูร่วมกับอาการทางกายอื่น ๆ  

2.พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

จากเดิมที่เคยร่าเริง อาจเงียบมีพฤติกรรมแปลกจากเดิม ตกใจง่าย หรือไม่ยอมไปโรงเรียน ในเด็กเล็กที่ไม่กล้าเล่า อาจจะแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่ควบคุมไม่ได้ เช่น การนอนสะดุ้งจากฝันร้าย หรือฉี่รดที่นอน กินน้อยลง เป็นต้น 

3.ความเงียบไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป

เด็กหลายคนที่ถูกทำร้ายเลือกที่จะเงียบมากกว่าโวยวาย เพราะกลัวจะถูกทำร้ายมากขึ้น หรือกลัวเพื่อนไม่ยอมรรับ กลัวผู้ปกครองไปคุยกับทางโรงเรียน เมื่อลูกเกิดเงียบจนผิดปกติ คุยน้อยลงจนน่าแปลกใจ หรือถามคำตอบคำแทนที่จะร่าเริง ให้คิดว่าอาจจะเกิดเรื่องขึ้นได้  

4.อารมณ์รุนแรง

หากลูกถูกทำร้ายบ่อยๆ อาจส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกได้ นอกจากอาการซึมเศร้า เก็บตัว อาจจะมีพฤติกรรมอื่นๆ เช่น เหม่อลอย ขี้ลืม สมาธิสั้น โกรธโมโหง่าย ฉุนเฉียวง่าย ที่อาจจะเกิดจากความคับข้องใจที่ต้องการระบาย บางคนแสดงออกด้วยความก้าวร้าว ต่อต้าน 

5.เริ่มมีการใช้ความรุนแรง

หากลูกเห็นว่าการทำรายร่างกายทำให้เกิดผลดีได้ เช่น เพื่อนโดนครูตีแล้วหยุดดื้อ เพื่อนโดนครูหยิกแล้วหยุดคุยกัน ทำให้เด็กแปรผลของพฤติกรรมทางลบนั้นเป็นเรื่องบวก ทำให้เกิดการเลียนแบบโดยใช้ความรุนแรง เพราะเขามองว่าความรุนแรงยุติปัญหาได้ ยิ่งในช่วงวัยอนุบาล และประถมนั้นเป็นวัยแห่งการเลียนแบบและเรียนรู้  

6.ขาดความมั่นใจ

จากเด็กที่มีความมั่นใจ กล้าพูดกล้าทำ แต่ความกล้าหายไป เช่น ลูกเคยทำการบ้านวิชานี้ได้ อยู่ๆ คิดผิดคิดถูก ไม่กล้าเขียนคำตอบลงไป อาจจะเป็นเพราะลูกเคยถูกดุ หรือถูกทำร้ายในห้องเรียนเมื่อทำโจทย์ข้อนั้นผิดหรือเปล่า 

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นความผิดปกติควรสอบถามจากลูก ให้เล่าให้ฟัง เปิดใจและเชื่อสิ่งที่ลูกเล่าก่อน เพราะลูกจะรู้สึกว่าเราพร้อมรับฟังเสมอ แล้วค่อยๆเก็บข้อมูลที่ลูกเล่า แต่หากลูกไม่เล่าอาจจะต้องให้นักจิตวิทยาช่วยพูดคุยแทน